สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / ​ด่านศุลกากรมุกดาหารแพ้อุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยฯ สั่งให้เปิดเผยข้อมูลการนำเข้าหิน กรวด ทราย จาก สปป.ลาว​ แก่ ‘สุเทียน’

แชร์เนื้อหานี้

ร้อยตำรวจตรี สุเทียน ทองโสม ประธานชมรมรักษ์มุกดาหาร เปิดเผยว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาเศรษฐกิจและการคลัง ได้มีคำวินิจฉัยเรื่อง อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของด่านศุลกากรมุกดาหาร เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายและพิกัดแผนที่การดูดหิน กรวด ทราย ซึ่งตนเป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ โดยมีด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมาตนได้ทำหนังสือถึงด่านศุลกากรมุกดาหาร ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ประกอบการของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ทำสัญญาซื้อขายหิน กรวด ทราย กับผู้ประกอบการขออนุญาตนำเข้านอกทางอนุมัติในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร แต่ด่านศุลกากรมุกดาหาร ได้ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการและเป็นข้อมูลการประกอบธุรกิจการค้าในนิติสัมพันธ์ของเอกชน จึงไม่สามารถ จัดส่งข้อมูลให้กับผู้อุทธรณ์ตามที่ร้องขอได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นเหตุให้ตนได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของด่านศุลกากรมุกดาหาร ดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯ ได้รับคำขออุทธรณ์ไว้วินิจฉัย โดยมีด่านศุลกากรมุกดาหารคัดค้านว่า ข้อมูลผู้ประกอบการของ สปป.ลาวและพิกัดรูปแผนที่ของแปลงสัมปทาน ดูดทรายนั้นเป็นสิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ถือว่าเป็น “ข้อมูลข่าวสาร” และเป็นข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับเอกชนที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ คือ ด่านศุลกากรมุกดาหาร จึงถือว่าเป็น “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” และข้อมูลข่าวสารของราชการดังกล่าว ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่หน่วยงานของรัฐต้องส่งพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบ และไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ข้อมูลที่ร้องขอเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่ผู้ประกอบการยื่นต่อด่านฯ เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการนำเข้าทรายตามปกติเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสาร ที่ผู้ประกอบการประสงค์จะให้ด่านฯ นำไปเปิดเผยได้ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ร้องขอของผู้ประกอบการ สปป.ลาว จะเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลซึ่งเป็นผู้ขายทราย จึงถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นข้อมูล ที่เกี่ยวพันกับคู่สัญญาที่มีนิติสัมพันธ์กันระหว่างเอกชนที่เป็นคู่สัญญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นใดเป็นข้อมูลที่ไม่รู้กันโดยทั่วไป เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า จึงเป็นความลับทางการค้า ไม่ใช่ข้อมูลทั่วไปที่สามารถแสดงหรือเปิดเผยต่อสาธารณชนได้

ต่อมา คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ คำชี้แจงด้วยวาจาของผู้อุทธรณ์ รวมทั้งคำชี้แจงและเหตุผลในการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของด่านศุลกากรมุกดาหาร และเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในใบยั่งยืนซึ่งมีรายละเอียด ชื่อบริษัท ผู้ขาย ข้อกฎหมาย พื้นที่และเนื้อที่ที่ใช้ในการดูด หิน กรวด และทรายใน สปป.ลาว กำหนดระยะเวลาในการดูด หิน กรวด และทรายในพื้นที่ สปป.ลาว ย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับ ผู้ประกอบการจาก สปป.ลาว แต่อย่างใด สำหรับประเด็นที่ด่านศุลกากรมุกดาหารอ้างว่า ข้อมูลสัญญาซื้อขายและข้อมูลใบยั่งยืนมีลักษณะเป็นความลับทางการค้านั้น เห็นว่ารายละเอียดของสัญญาซื้อขายหิน กรวด ทราย และ ข้อมูลใบยั่งยืนของผู้ประกอบการ สปป.ลาว ที่ทำสัญญาซื้อขายกับ ผู้ประกอบการไทย ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ขาย ข้อกฎหมาย พื้นที่และเนื้อที่ที่ใช้ในการดูดหิน กรวด และทรายใน สปป.ลาว กำหนดระยะเวลาในการดูดหิน กรวด และทรายในพื้นที่ สปป. ลาว ซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมิใช่ข้อมูลทางการค้าเกี่ยวกับสูตร รูปแบบงาน ที่ได้รวบรวมหรือประกอบขึ้น โปรแกรม วิธีการ เทคนิค หรือกรรมวิธี อันจะถือได้ว่าเป็นข้อมูลความลับทางการค้าแต่อย่างใด จึงมิใช่ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ข้ออ้างที่ว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าจึงไม่อาจรับฟังได้

ประกอบกับ ผู้อุทธรณ์เป็นประธานชมรมรักษ์มุกดาหาร และหัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สาขาพรรคเสรีรวมไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๑ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งได้รับเรื่องการร้องเรียนร้องทุกข์จากชาวบ้าน ข้าราชการ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อใช้ในการปกป้อง ผลกระทบต่อชุมชนชาวประมง เส้นทางคมนาคม และสิ่งแวดล้อมในจังหวัดมุกดาหาร และ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของด่านศุลกากรมุกดาหาร ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบการแล้ว เห็นว่าข้อมูลสัญญาซื้อขาย หินกรวด ทราย ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการ ของ สปป.ลาว เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตาม มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 คณะกรรมการวินิจฉัยฯ จึงวินิจฉัยให้ด่านศุลกากรมุกดาหารเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสัญญา ซื้อขาย หิน กรวด ทราย ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการของ สปป.ลาว จำนวน 11 สัญญา และใบยั่งยืนที่ใช้ประกอบการยื่นคำขออนุญาตนำเข้านอกทางอนุมัติ จำนวน 5 ฉบับ พร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์ “ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวข้างต้นจะนำไปเป็นพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของท่าทรายที่ลักลอบดูดกรวดและทรายในแม่น้ำโขง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่ไม่โปร่งใสปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อประมวลจริยธรรม ต่อไป” ร้อยตำรวจตรี สุเทียนกล่าว

ศูนย์ข่าวมุกดาหาร

ภาพ​/ข่าว​ เด​วิท​ ​โชคชัย​ มุกดาหาร​ รายงาน​ 092-5259777​