สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / แถลงข่าวเปิดตัวงานเทศกาลประติมากรรมแห่งศรัทธา “ วิถีคล้า วิถีคน” กิจกรรม “มหัศจรรย์ศิลป์คล้า เล่าขานตำนานพญานาค

แชร์เนื้อหานี้

สะพานแขวนกิ้งก่าภูวัว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “สะพานกะปอม” ณ ชุมชนคุณธรรมบ้านบุ่งคล้า กลายเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะ ความศรัทธา และอัตลักษณ์ท้องถิ่นอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 ที่บริเวณสะพานแขวนกิ้งก่าภูวัว (สะพานกะปอม) ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าวเปิดตัวงานเทศกาลประติมากรรมแห่งศรัทธา “ วิถีคล้า วิถีคน” กิจกรรม “มหัศจรรย์ศิลป์คล้า

เล่าขานตำนานพญานาค สู่อัตลักษณ์ท่องเที่ยวบึงกาฬ” ภายใต้โครงการส่งเสริม Soft Power ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ โดยได้รับเกียรติจาก นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในพิธี,

นางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ, นายณรงค์ ศักดิ์ คุรุพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ, อาจารย์สัติยะพันธ์ คชมิตร รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมแห่งบึงกาฬ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี,

นายเฉลิมเกียรติ แผนกิจเจริญ พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ, นายคมกฤต บุญกอง นายอำเภอบุ่งคล้า และน.ส.กนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผอ.ททท.อุดรธานี ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วย นายนคร ศิริปริญญานันท์ รองผวจ.บึงกาฬ,

นายสมหวัง อารีย์เอื้อ รองผวจ.บึงกาฬ, ผู้บริหารจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมในงาน ที่พร้อมใจกันขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ,

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และพื้นที่อำเภอบุ่งคล้า ที่ร่วมกันบูรณาการความร่วมมือทั้งด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสร้างเศรษฐกิจฐานราก สู่กิจกรรมที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่

กิจกรรมไฮไลต์ของโครงการ คือการจัด ประกวดประติมากรรมแห่งศรัทธา “วิถีคล้า วิถีคน” ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ชุมชน และผู้มีใจรักในงานหัตถศิลป์จากต้นคล้า ส่งผลงานเข้าร่วม โดยผลงานต้องมีขนาด 2 x 2 เมตร และจัดทีมประกวดไม่เกิน 10 คนต่อกลุ่ม เพื่อชิงรางวัล แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 10,000 บาท รองชนะเลิศ 6,000 และ 5,000 บาท พร้อมรางวัลชมเชยอีก 5 รางวัล รางวัลละ 4,000 บาท

นอกจากจะเป็นเวทีแสดงพลังสร้างสรรค์ของคนในพื้นที่แล้ว โครงการยังถือเป็นการบ่มเพาะความรู้ ความภาคภูมิใจใน “ต้นคล้า” ซึ่งเป็นทั้งทรัพยากรธรรมชาติ

และมรดกทางวัฒนธรรมของบึงกาฬ ที่สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางศิลปะที่ผูกโยงกับ “ความเชื่อ ความศรัทธา” อันลึกซึ้งของชาวริมโขง

ภายในงานยังมีการแสดงศิลปะร่วมสมัย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่ และนิทรรศการ “Soft Power บึงกาฬ” ที่เปิดมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อิงตำนาน และใช้ทุนวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด “นี่ไม่ใช่แค่งานแถลงข่าว แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังท้องถิ่นด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่จับต้องได้”

โครงการนี้สะท้อนถึงการบูรณาการระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้น “คุณค่าและความยั่งยืน” จากตำนานสู่ศิลป์ จากศิลป์สู่สินค้า และจากสินค้า สู่โลก—บึงกาฬกำลังใช้ “ต้นคล้า” และ “ความเชื่อ” เป็นสะพานแห่ง Soft Power ที่ก้าวไกลกว่าที่เคย
ข่าว/ภาพ ณัฏฐ์ ณฐพรหม บึงกาฬ