
จังหวัดบึงกาฬ ประชุมเชิงปฏิบัติการ ขับเคลื่อนโครงการ “Buengkan Zero Dropout” และพิธีมอบวุฒิบัตรผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับโครงการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนารูปแบบการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุนวันที่(9 พฤษภาคม 2568) ที่หอประชุมศรีบึงกาฬ โรงเรียนบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ตำบลต้นแบบ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา

เพื่อให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจังหวัดบึงกาฬ ตามโครงการ (Buengkan Zero Dropout) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้านการศึกษาในภูมิภาค ระดับตำบโดยมีนายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบวุฒิบัตร พร้อมด้วยนายสมหวัง อารีย์เอื้อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการ ดร.กษมา ป้องกัน ผอ.สพม.บึงกาฬ นายนรภัทร สิทธิจักร รองผอ.สพม.บึงกาฬ ดร.ชวนะ ทวีอุทิศ ผอ.โรงเรียนบึงกาฬ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนแนวทางในการลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน และให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกการศึกษาหรือเด็กตกหล่นได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา สร้างโอกาสความเสมอภาคความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย เพื่อให้ชวัญและกำลังใจและเชิดชูผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นพื้นฐานที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบชุมชนในการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า จังหวัดบึงกาฬ มีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 3–18 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษากว่า 4,371 คน โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา มีตำบลต้นแบบ Zero Dropout ในจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 1 แห่ง
คือ ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง จนกระทั่งส่งผลให้นักเรียนได้สำเร็จการศึกษา

นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า “การศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน จังหวัดบึงกาฬ ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษา เราจะไม่ปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การประชุมในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังร่วมในระดับตำบล ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนในอนาคต”

นางรินทิพย์ วารี ศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยยึดพื้นที่เป็นฐานการทำงาน ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมุ่งหวังให้ทุกตำบลในจังหวัดเป็นพื้นที่ปลอดเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เราไม่ได้มองเพียงการนำเด็กกลับมาเรียนเท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาให้เด็กแต่ละคนได้เรียนรู้ตามศักยภาพ และสามารถเชื่อมโยงสู่การมีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว”

โครงการ “Buengkan Zero Dropout” มุ่งขับเคลื่อนกลไกการค้นหา ติดตาม ฟื้นฟู และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ระดับตำบล โดยคาดหวังให้จังหวัดบึงกาฬเป็นต้นแบบของการดำเนินงานเชิงพื้นที่ด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ยึดมั่นในหลักการ “ให้การศึกษาที่เท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กระทรวงศึกษาธิการต้องการเห็นเด็กทุกคนมีโอกาสเรียนรู้อย่างเสมอภาคและเติบโตในสังคมอย่างมีความสุข ตอบสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข”
ข่าว/ภาพ ณัฏฐ์ ณฐพรหม บึงกาฬ

