สื่อรัฐทีวี*สื่อรัฐนิวส์ / โครงการ “การพัฒนาเครือข่ายชุมชนการจัดการวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรเพื่อลดจุดความร้อน (Hot spot) และฝุ่นละออง PM2.5 ในจังหวัดน่าน”

แชร์เนื้อหานี้

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 โครงการ “การพัฒนาเครือข่ายชุมชนการจัดการวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรเพื่อลดจุดความร้อน (Hot spot) และฝุ่นละออง PM2.5 ในจังหวัดน่าน”

ได้จัดกิจกรรมลงพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางการลด PM2.5 ผ่านการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร ณ บ้านท่าลี่ ตำบลขึ่ง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 30 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในพื้นที่

กิจกรรมในครั้งนี้นำโดย นายนคร สอนสมฤทธิ์ เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดน่าน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ หัวหน้าโครงการวิจัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ทีมงานได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 พด.2 และ พด.3 ซึ่งเป็นนวัตกรรมชีวภาพที่ช่วยเร่งการย่อยสลายเศษพืช เศษฟาง และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ลดระยะเวลาการหมักและเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลาย
นอกจากนี้ยังมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ

เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาที่เป็นสาเหตุสำคัญของจุดความร้อน (Hot spot) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหล่านี้และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านปุ๋ยอินทรีย์ในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยหลังสิ้นสุดการอบรม เกษตรกรผู้เข้าร่วมได้ลงมือปฏิบัติจริงในการผสมวัสดุ เศษฟาง ใบไม้แห้ง และเศษข้าวโพดร่วมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 พด.2 และ พด.3 จนได้กองปุ๋ยหมักต้นแบบประจำหมู่บ้าน

การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายผลแนวทางการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรแบบ “Zero Burn” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่วิจัย เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับชุมชนในจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน/ เครดิต/สรรเพชญ์ ปุละ/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน