คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวร้องเรียน ร้องทุกข์

สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / หากินกับกล้องจับควมเร็ว ชาวบ้านเดือดร้อน แขวงประจวบฯ ชี้แจงปัญหา หลังโดนไปสั่งนับร้อยคัน

แชร์เนื้อหานี้

Oplus_131072


เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ที่ห้องประชุมแขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) จ.ประจวบฯ นายเศรษฐ์ จันทอาด รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงประจวบฯ (ฝ่ายปฏิบัติการ) เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนเพชเกษมในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน มี พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สะอาดนัก สว.จร.สภ.หัวหิน ตำรวจทางหลวงประจวบฯ เทศบาลเมืองหัวหิน กลุ่มพลังท้องถิ่นหัวหิน เข้าร่วมรับฟัง

นายเศรษฐ์ จันทอาด กล่าวว่า แขวงทางหลวงฯ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและกลุ่มพลังท้องถิ่นหัวหิน ในเรื่องไฟสัญญาณจราจร ป้ายจราจร บนถนนเพชรเกษมเขตเทศบาลเมืองหัวหิน ที่มีการกำหนดและบังคับใช้แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ทาง จึงได้มีการประชุมร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของสัญญาณไฟจราจรที่ประชาชนใช้แล้วรู้สึกว่าไม่ถูกใจเท่าไหร่ เช่น บริเวณแยกพุทธไชโย ทางเลี้ยวซ้ายที่รอสัญญาณไฟก็จะเปลี่ยนให้เป็นเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดเพื่อให้การจราจรคล่องตัว แต่การเลี้ยวซ้ายก็ต้องมองรถขวาด้วยเพื่อความปลอดภัย ในส่วนของสี่แยกเทศบาลเมืองหัวหิน ไฟจราจรที่ไม่ชัดเจน เช่น ไฟเลี้ยวซ้ายที่ยังเป็นสีเหลืองอยู่ ทางแขวงจะให้ทางบริษัทมาปรับปรุงแก้ไขให้ ส่วนกล้องตรวจจับความเร็วและป้ายจำกัดความเร็วที่กระชั้นชิดที่เป็นปัญหากับประชาชนผู้ขับขี่อยู่ในตอนนี้ ทางตำรวจทางหลวงจะไปขยับป้ายที่เป็นระยะที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนก่อนที่จะถึงจุดตรวจจับความเร็ว ตรงนี้ตำรวจทางหลวงประจวบฯ ก็จะรับไปดำเนินการซึ่งได้มีมติในที่ประชุมแล้ว ได้คุยกันเรียบร้อยแล้ว

Oplus_131072

“ปัญหาเรื่องฟุตบาททางเท้าริมถนนเพชรเกษมที่ในขณะนี้ทางแขวงฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอยู่ มีสาเหตุมาจากที่เราเพิ่งได้งบประมาณมาระหว่างช่วงไฮซีซั่นพอดี เราได้ตั้งงบแล้วและได้ผู้รับจ้างพอดีก็เลยรีบดำเนินการ ฝากถึงประชาชนนักท่องเที่ยวระหว่างนี้อาจได้รับความเดือดร้อนจากการสัญจรไปมา รวมถึงการเข้าออกบ้านและร้านค้า แต่เมื่อเแล้วเสร็จเราจะได้เข้าออกอย่างสะดวกและปลอดภัย หน้าบ้านเราก็จะสวยงามเป็นอัตลักษณ์ของหัวหิน ซึ่งตามสัญญาก็น่าจะเสร็จประมาณเดือนธันวาคมนี้ ก็อยากฝากถึงประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนด้วยว่า ทางหลวงเราเป็นทางสายหลัก หัวหินของเราก็ค่อนข้างเป็นเมืองชุมชน มีทั้งเขตพระราชฐาน มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจำนวนมาก ก็อยากให้ใช้รถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งผู้ที่อยู่ในเมืองหัวหินและผู้ที่เดินทางผ่านด้วย

นายศุภวิท กำเนิดแสง ประธานกลุ่มพลังท้องถิ่นหัวหิน กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแขวงการทาง งานจราจร สภ.หัวหิน ตำรวจทางหลวงประจวบฯ และเทศบาลเมืองหัวหินที่มาร่วมกันในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ รู้สึกพอใจที่ปัญหาหลายข้อได้รับการตอบรับในแก้ปัญหาให้กับประชาชน ปัญหาที่เราโฟกัสเป็นพิเศษในวันนี้ก็คือเรื่องของการจราจรที่เป็นประเด็นแรก ส่วนเรื่องปัญหาไฟสัญญาณจราจรที่ประชาชนไม่เข้าใจหรือเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ทำการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องกล้องตรวจจับความเร็วในเขตเทศบาลเมืองหัวหินที่ประชาชนนักท่องเที่ยวร้องเรียนเข้ามาว่าโดนใบสั่งกันมาก ในที่ประชุมทั้งทางหลวงหรือตำรวจทางหลวงก็ได้รับทราบและทำการแก้ไขต่อไป.

ทม.ประจวบฯ ฝึกอบรมประชาชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจร และป้องกันอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลเมืองประจวบฯ นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เทศบาลเมืองประจวบฯ เป็นประธานเปิดกิจกรรมฝึกอบรมประชาชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรและการป้องกันอุบัติเหตุ มีนางรัชนีวรรณ พรมเล็ก ปลัดเทศบาลเมืองประจวบฯ

กล่าวรายงาน ร.ต.อ.สันติ ทองฉิม รอง สว.จร.สภ.เมืองประจวบฯ น.ส.อรุณรัตน์ ฟองมณี เจ้าหน้าที่อาวุโส บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขาประจวบฯ นายมานะ สาลี หัวหน้าช่าง บริษัท ชาญธุรกิจ 1990 จำกัด มาเป็นวิทยกรบรรยายให้ความรู้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลฯ เจ้าหน้าที่ และผู้เข้ารับการอบรมให้การต้อนรับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจร ได้มีความรู้ความเข้าใจปัจจัยการกระทำความผิดกฎหมายจราจรของผู้ขับขี่รถยนต์-รถจักรยานยนต์ และเล็งเห็นความสำคัญของพระราชบัญญัติรถยนต์ (พ.ร.บ.) สิทธิหลังเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงให้ความรู้ด้านเทคโนโลยียานยนต์ โดยมีตัวแทนจาก 15 ชุมชนในเขตเทศบาลฯ จำนวน 90 คน เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้.


จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จัดประชุมคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการแรงงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

วันนี้ (20 พ.ย. 67) เวลา 9.30 น. ที่ห้องประชุมสิงขร ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการแรงงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อติดตามการดำเนินงานด้าน การป้องกันและแก้ไขปัญหา การใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเล โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการแรงงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแต่งตั้งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ทั้งยังเป็นศูนย์บูรณาการตรวจแรงงานประมงทะเลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีอำนาจหน้าที่ในการ 1.จัดทำแผนและประสานความร่วมมือในการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเล 2.ดำเนินการร่วมกันในการตรวจ รับคำร้อง มีคำสั่งดำเนินคดี ตลอดจนติดตามคดีและการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายในเรือประมงทะเลอย่างเครงครัด 3.ส่งต่อและประสานงานการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

ในกิจการประมงทะเลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4.ให้คำแนะนำข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ข้อกฎหมาย การจัดเอกสารหลักฐานตามกฎหมาย 5.จัดทำฐานข้อมูลระบบทะเบียนเรือประมง และทะเบียนเรือประมงข้อมูลการคุ้มครองแรงงานในจังหวัด ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อมโยงข้อมูลได้ 6. มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการจ้างสภาพการทำงานและการค้ามนุษย์ในเรือประมงทะเล 7.รายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา และ ดำเนินงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ในปี 2565

ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Presons Report) , ความปลอดภัยในเรือประมง , การเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจเรือกลางทะเล , สรุปผลการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และสถานการณ์การค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และได้ร่วมกันพิจารณาแผนการตรวจแรงงานประมงทะเลแบบบูรณาการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้กำหนดแผนการบูรณาการตรวจเรือประมงทะเลประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ในพื้นที่บริเวณทะเลตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี และบริเวณทะเลตำบลแม่รำพึง อำเอำเภอบางสะพาน

กองบิน 5 จัดใหญ่งานเทศกาลท่องเที่ยวอ่าวมะนาว รำลึก 83 ปี สดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484 วันที่ 6-10 ธ.ค.นี้


เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ที่ห้องดุสิตา อาคารอากาศคำรณ กองบิน 5 อำเภอเมือง จ.ประจวบฯ น.อ.พงศ์ชนินทร์ นุชประเสริฐ ผู้บังคับการกองบิน 5 พร้อมด้วย นายปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบฯ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบฯ นายนิติ วงษ์วิชาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบฯ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานสดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2584 ประจำปี 2567 มีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ และสื่อมวลชนร่วมการแถลงข่าว


กองทัพอากาศ โดยกองบิน 5 ได้กำหนดจัดงานสดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484 ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสดุดีความกล้าหาญของทหารอากาศ ลูกเสือ ยุวชน ตำรวจ และวีรชนชาวจังหวัดประจวบฯ ทุกท่านที่ยอมเสียสละชีวิต เลือดเนื้อเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา และเพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบฯ ให้พี่น้องชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีส่วนทราบเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกัน ระหว่างทหารอากาศแห่งกองบิน 5 และพี่น้องประชาชนจังหวัดประจวบฯ ที่ร่วมกันต่อสู้กับกองกำลังแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ได้นำกำลังพลขึ้นบก ณ อ่าวประจวบ อ่าวมะนาว และมีการสู้รบกันเป็นเวลา 33 ชั่วโมง จึงสงบ โดยในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 83 ปี สดุดีวีรชน สงครามมหาเอเชียบูรพา

น.อ.พงศ์ชนินทร์ นุชประเสริฐ ผู้บังคับการกองบิน 5 กล่าวว่า กองทัพอากาศ โดยกองบิน 5 ได้กำหนดจัดงานสดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 6-10 ธ.ค.67 รวม 5 วัน ที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ กองบิน 5 และบริเวณลานเอนกประสงค์ สโมสรทหารอากาศ กองบิน 5 ในส่วนของงานพิธีการจะเริ่มในวันเสาร์ที่ 7 ธ.ค.67 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. มีการจัดกิจกรรมเดินเทิดเกียรติสดุดีวีรชนตั้งแต่บริเวณศาลหลักเมืองประจวบฯ ถึงอนุสาวรีย์วีรชนฯ กองบิน 5 หลังจากนั้น จะเป็นงานเลี้ยงรับรองที่บริเวณลานเอนกประสงค์สโมสรทหารอากาศ กองบิน 5 ส่วนวันอาทิตย์ที่ 8 ธ.ค.มีพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชนฯ ของส่วนราชการจังหวัดประจวบฯ และเวลา 10.00 น. ผู้บัญชาการทหารอากาศ จะให้เกียรติมาวางพวงมาลาและร่วมงานบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลให้กับวีรชน

นอกจากนี้ กองบิน 5 ได้กำหนดจัดงาน เทศกาลท่องเที่ยวอ่าวมะนาว สดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่กับงานพิธีการหลัก โดยกำหนดจัดงานบริเวณลานเอนกประสงค์สโมสรทหารอากาศ กองบิน 5 มีการออกร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม เวทีการแสดง รวมถึงการจัดนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การแนะแนวสถานศึกษาในกองทัพอากาศ และการจัดแสดงผลงานการประกวดประเภทต่าง ๆ ของนักเรียนที่ศึกษาในสถานศึกษาจังหวัดประจวบฯ เยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมถึงกิจกิจกรรมการแข่งขันกีฬา และกิจกรรมพิชิตยอดล้อมหมวก

สำหรับกิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการมีส่วนร่วมในกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป คือ การประกวด ชิงเงินรางวัลและโล่เกียรติยศผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้แก่ การประกวดแต่งโคลงสี่สุภาพ ในหัวข้อ เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง การประกวดกลอนสุภาพ ในหัวข้อ “เชิดชูเกียรติ สดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484”

การประกวดเรียงความ การประกวดวาดภาพระบายสี และการประกวด Infographicในหัวข้อ “สืบสาน รักษา และต่อยอด การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล” อีกทั้งยังมีการประกวดภาพถ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว ในหัวข้อ “สละชีพ สู้ศึก พิทักษ์ชาติ ก้องเกียรติ ถนนแห่งประวัติศาสตร์” และการประกวดคลิปวิดีโอสั้นส่งเสริมการท่องเที่ยว ในหัวข้อ “มาเที่ยวบ้านฉัน มหัศจรรย์เมืองสามอ่าว”

นายนิพล ทองเก่า นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 0909944781


สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน แถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล หยุดผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์เข้า ครม.

แชร์เนื้อหานี้

วันนี้ (11 พ.ย.67) ที่ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แทนรับหนังสือข้อเรียกร้อง จากตัวแทนองค์กรภาคประชาชน 47 เครือข่ายได้รวมตัวกัน ออกแถลงการณ์ร่วมขบวนการประชาชนหยุดพระราชกฤษฎีกา “ป่าอนุรักษ์” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์เข้า ครม.โดยทันที ระบุว่า การประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามนโยบายของหลายรัฐบาลสืบเนื่องกันมา ทำให้สถานการณ์การเร่งรัดประกาศป่าอนุรักษ์ด้วยการออกกฎหมายและใช้กำลังป่าเถื่อนเกิดเป็นกรณีความขัดแย้งทั่วประเทศ อันปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนหลายกรณีตอกย้ำความรุนแรงจากผู้ถือกฎหมายที่กระทำต่อผู้คนในเขตป่าอย่างเลือดเย็นไม่จบสิ้น

โดยตัวแทนองค์กรภาคประชาชน 47 เครือข่าย แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในการคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพย์ยากรธรรมชาติ ภายในอุทยานแห่งชาติ 3 ประการ ประกอบด้วย 1.ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวกับการอนุญาติใช้ที่ดินในกรอบระยะเวลา 20 ปี ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อลดการใช้ที่ดินและนำไปสู่การไล่คนออกจากป่า 2.เป็นการละเมิดสิทธิ์ประชาชนที่รัฐละเลยตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิคนพื้นเมืองที่นานาประเทศได้ลงนามไว้ 3.กฎหมายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในเขตอนุรักษ์ ระหว่างรัฐกับประชาชนได้ แต่กลับจะทำให้ข้อพิพาททวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนี้นจึงเสนอให้รัฐบาลทบทวนการออกร่าง พ.ร.ฏ. ดังกล่าว โดยพิจารณาถึง ความมั่นคงในการใช้ที่ดิน และศักยภาพของชุมชนในการใช้ที่ดินเพื่อประกอบอาชีพที่หลากหลายในชีวิตประจำวัน

ภายหลังการรับหนังสือข้อเรียกร้องจากตัวแทนองค์กรภาคประชาชน 47 เครือข่าย นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งให้กับผู้ที่มาชุมนุมทราบว่า จังหวัดเชียงใหม่จะเร่งดำเนินการส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้จะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อเรียกร้องของประชาชนให้แก่ผู้ที่มีอำนาจให้ได้รับทราบ.อีกต่อไป.

นายสิทธิชัย วนานุเวชพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่2 (แพร่) พร้อมนายภูริทัต เรืองพิริยะ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 นายอลงกรณ์ กัวตระกูล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 1 และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมบรรยายข้อมูลและนำเสนอภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม

เส้นทางการคมนาคมที่เสียหาย การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุกภัย และแผนการป้องกันอุทกภัย ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย รวมถึงลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 118 สาย เชียงใหม่ – เชียงราย ตอน อำเภอแม่สรวย – บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 เพื่อพังบรรยายสรุปการก่อสร้าง ณ ทางหลวงหมายเลข 118 ตอน แม่สรวย – ดงมะดะ กม.154+000 ก่อนออกเดินทางไปยัง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อไป..

สมจิตรแสงบันลังค์รายงาน


สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ /รมว.อุตสาหกรรม เรียกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 10 สมาคมเหล็ก ถกเร่งแก้วิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กของไทย /เทศบาลบ้านกรูด ประชุมคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนฯ ประจำปี 2567

แชร์เนื้อหานี้

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดกระทรวง เชิญแกนนำกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก ร่วมหารือปัญหาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก และหาแนวทางแก้ไขเพื่อความอยู่รอดตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับผู้แทนอุตสาหกรรมเหล็กไทย นำโดย นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก คณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. และ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีสมาชิกรวม 510 บริษัท จ้างงานโดยตรงกว่า 50,000 อัตรา และจ้างงานทั้งระบบกว่า 3 แสนคน

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานส.อ.ท. กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมเหล็กเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบอุตสาหกรรม เพราะเหล็กเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ได้แก่ ก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ โดยหลายประเทศต่างก็ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติของตน แต่ขณะนี้โลกเผชิญวิกฤตกำลังการผลิตเหล็กของโลกล้นเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีนซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอย ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศของจีนลดลง ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กในสัดส่วนสูงมากราวร้อยละ 58 ของการผลิตเหล็กของทั้งโลกรวมกัน จีนจึงมุ่งส่งออกสินค้าเหล็กไปยังภูมิภาคหรือประเทศที่มีช่องโหว่ซึ่งจีนสามารถทุ่มตลาดได้ โดยในช่วง 9 เดือนแรก ประเทศจีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กแล้ว 81 ล้านตัน และคาดว่าทั้งปี 2567 จีนจะส่งออกสินค้าเหล็กมากสุดในรอบ 8 ปี ปริมาณสูงถึง 109 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า โดยสินค้าเหล็กจากจีนที่ส่งมายังประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มปริมาณมากกว่า 5.1 ล้านตัน และครองส่วนแบ่งปริมาณเหล็กนำเข้ามากที่สุดร้อยละ 44 ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยมีการใช้กำลังการผลิต (Production Capacity Utilization) ถึงขั้นวิกฤตต่ำกว่าร้อยละ 30 แล้วจนหลายโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานไป ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก จึงขอเสนอ 7 แนวทางบรรเทาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก ดังนี้

มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศไทยแล้ว ได้แก่ โรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นต้น มาตรการส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon การเร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ เพื่อให้มีการบริหารจัดการและสามารถนำวัสดุต่างๆ มาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด นโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจากส.อ.ท. ว่าผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand หรือ MiT) ไม่เพียงแค่เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น โดยขยายไปยังโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public – Private Partnership หรือ PPP) และโครงการก่อสร้างของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment หรือ BOI) ด้วย

การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ โดยเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์และทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention หรือ AC) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น โดยไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty หรือ CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) แต่อย่างใด ในขณะที่ประเทศไทยยังคงถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดปริมาณเฉลี่ยกว่า 4.2 แสนตันต่อเดือน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวและยืนยันว่าอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทยต้องสนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ อย่างทันท่วงที โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็ต้องมีการปรับตัวรับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ทั้งนี้หลายข้อเสนอจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กบางประเภท การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อาคารโครงสร้างเหล็ก มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเศษเหล็ก รวมถึงการจัดการซากรถยนต์ เป็นต้น โดยจะเร่งรัดผลักดันมาตรการต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กยังคงอยู่เป็นพื้นฐานสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศไทย

เทศบาลบ้านกรูด ประชุมคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนฯ รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ประจำปี 2567

ที่สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านกรูด อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายอิศรา กาญจนรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกรูด พร้อม นายพันธ์เทพ จิตต์การุณย์ ประธานในการประชุมคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบ้านกรูด พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เจ้าหน้าที่งานสวัสดิการสังคม และคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบ้านกรูด เข้าร่วม การประชุมคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบ้านกรูด ครั้งที่ 3/2567 เพื่อรายงานผลการดำเนินการโครงการบ้านพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

และนอกจากนี้ คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบ้านกรูด ยังได้เสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ตามที่ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำข้อมูลบ้านพอเพียงแล้ว
////////////////

ณัฐธภพ พันสาย / จ.ประจวบคีรีขันธ์ 0649646443

สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / ​ด่านศุลกากรมุกดาหารแพ้อุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยฯ สั่งให้เปิดเผยข้อมูลการนำเข้าหิน กรวด ทราย จาก สปป.ลาว​ แก่ ‘สุเทียน’

แชร์เนื้อหานี้

ร้อยตำรวจตรี สุเทียน ทองโสม ประธานชมรมรักษ์มุกดาหาร เปิดเผยว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาเศรษฐกิจและการคลัง ได้มีคำวินิจฉัยเรื่อง อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของด่านศุลกากรมุกดาหาร เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายและพิกัดแผนที่การดูดหิน กรวด ทราย ซึ่งตนเป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ โดยมีด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมาตนได้ทำหนังสือถึงด่านศุลกากรมุกดาหาร ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ประกอบการของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ทำสัญญาซื้อขายหิน กรวด ทราย กับผู้ประกอบการขออนุญาตนำเข้านอกทางอนุมัติในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร แต่ด่านศุลกากรมุกดาหาร ได้ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการและเป็นข้อมูลการประกอบธุรกิจการค้าในนิติสัมพันธ์ของเอกชน จึงไม่สามารถ จัดส่งข้อมูลให้กับผู้อุทธรณ์ตามที่ร้องขอได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นเหตุให้ตนได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของด่านศุลกากรมุกดาหาร ดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯ ได้รับคำขออุทธรณ์ไว้วินิจฉัย โดยมีด่านศุลกากรมุกดาหารคัดค้านว่า ข้อมูลผู้ประกอบการของ สปป.ลาวและพิกัดรูปแผนที่ของแปลงสัมปทาน ดูดทรายนั้นเป็นสิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ถือว่าเป็น “ข้อมูลข่าวสาร” และเป็นข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับเอกชนที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ คือ ด่านศุลกากรมุกดาหาร จึงถือว่าเป็น “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” และข้อมูลข่าวสารของราชการดังกล่าว ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่หน่วยงานของรัฐต้องส่งพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบ และไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ข้อมูลที่ร้องขอเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่ผู้ประกอบการยื่นต่อด่านฯ เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการนำเข้าทรายตามปกติเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสาร ที่ผู้ประกอบการประสงค์จะให้ด่านฯ นำไปเปิดเผยได้ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ร้องขอของผู้ประกอบการ สปป.ลาว จะเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลซึ่งเป็นผู้ขายทราย จึงถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นข้อมูล ที่เกี่ยวพันกับคู่สัญญาที่มีนิติสัมพันธ์กันระหว่างเอกชนที่เป็นคู่สัญญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นใดเป็นข้อมูลที่ไม่รู้กันโดยทั่วไป เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า จึงเป็นความลับทางการค้า ไม่ใช่ข้อมูลทั่วไปที่สามารถแสดงหรือเปิดเผยต่อสาธารณชนได้

ต่อมา คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ คำชี้แจงด้วยวาจาของผู้อุทธรณ์ รวมทั้งคำชี้แจงและเหตุผลในการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของด่านศุลกากรมุกดาหาร และเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในใบยั่งยืนซึ่งมีรายละเอียด ชื่อบริษัท ผู้ขาย ข้อกฎหมาย พื้นที่และเนื้อที่ที่ใช้ในการดูด หิน กรวด และทรายใน สปป.ลาว กำหนดระยะเวลาในการดูด หิน กรวด และทรายในพื้นที่ สปป.ลาว ย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับ ผู้ประกอบการจาก สปป.ลาว แต่อย่างใด สำหรับประเด็นที่ด่านศุลกากรมุกดาหารอ้างว่า ข้อมูลสัญญาซื้อขายและข้อมูลใบยั่งยืนมีลักษณะเป็นความลับทางการค้านั้น เห็นว่ารายละเอียดของสัญญาซื้อขายหิน กรวด ทราย และ ข้อมูลใบยั่งยืนของผู้ประกอบการ สปป.ลาว ที่ทำสัญญาซื้อขายกับ ผู้ประกอบการไทย ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ขาย ข้อกฎหมาย พื้นที่และเนื้อที่ที่ใช้ในการดูดหิน กรวด และทรายใน สปป.ลาว กำหนดระยะเวลาในการดูดหิน กรวด และทรายในพื้นที่ สปป. ลาว ซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมิใช่ข้อมูลทางการค้าเกี่ยวกับสูตร รูปแบบงาน ที่ได้รวบรวมหรือประกอบขึ้น โปรแกรม วิธีการ เทคนิค หรือกรรมวิธี อันจะถือได้ว่าเป็นข้อมูลความลับทางการค้าแต่อย่างใด จึงมิใช่ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ข้ออ้างที่ว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าจึงไม่อาจรับฟังได้

ประกอบกับ ผู้อุทธรณ์เป็นประธานชมรมรักษ์มุกดาหาร และหัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สาขาพรรคเสรีรวมไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๑ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งได้รับเรื่องการร้องเรียนร้องทุกข์จากชาวบ้าน ข้าราชการ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อใช้ในการปกป้อง ผลกระทบต่อชุมชนชาวประมง เส้นทางคมนาคม และสิ่งแวดล้อมในจังหวัดมุกดาหาร และ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของด่านศุลกากรมุกดาหาร ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบการแล้ว เห็นว่าข้อมูลสัญญาซื้อขาย หินกรวด ทราย ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการ ของ สปป.ลาว เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตาม มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 คณะกรรมการวินิจฉัยฯ จึงวินิจฉัยให้ด่านศุลกากรมุกดาหารเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสัญญา ซื้อขาย หิน กรวด ทราย ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการของ สปป.ลาว จำนวน 11 สัญญา และใบยั่งยืนที่ใช้ประกอบการยื่นคำขออนุญาตนำเข้านอกทางอนุมัติ จำนวน 5 ฉบับ พร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์ “ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวข้างต้นจะนำไปเป็นพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของท่าทรายที่ลักลอบดูดกรวดและทรายในแม่น้ำโขง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่ไม่โปร่งใสปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อประมวลจริยธรรม ต่อไป” ร้อยตำรวจตรี สุเทียนกล่าว

ศูนย์ข่าวมุกดาหาร

ภาพ​/ข่าว​ เด​วิท​ ​โชคชัย​ มุกดาหาร​ รายงาน​ 092-5259777​

สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / พลอากาศเอก ชัยนาท ผลกิจ รองผบ.ทหารอากาศ มอบเครื่องอุปโภคบริโภค ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย

แชร์เนื้อหานี้

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 พลอากาศเอก ชัยนาท ผลกิจ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสให้การต้อนรับพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม

และร่วมมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ณ ศาลาเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสิ่งของประกอบด้วย ข้าวสาร จำนวน 800 ถุง พร้อมน้ำดื่ม จำนวน 800 แพ็ค

สำหรับพื้นที่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นประจำทุกปี ซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ได้ดำเนินการช่วยเหลือมาโดยตลอด

โดยในปีนี้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ได้สนับสนุนเรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภัยในพื้นที่ดังกล่าว

กองทัพอากาศ

สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / ชาวบ้านร้องขอ อยากให้ที่ดินป่าช้า สาธารณะประโยชน์ เป็นของวัด การรังวัดป่าโคกศิลา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ปักธงชัย ไม่รับรอง อ้างกรรมสิทธ์

แชร์เนื้อหานี้

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 กลุ่มชาวบ้าน ออกมาร้องทุกข์ การรังวัด ของเจ้าหน้าที่รังวัด บริเวณติดป่าช้า สาธารณะประโยชน์ วัดป่าโคกศิลา ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา กลุ่มชาวบ้านเล่าว่า อยากให้ที่สาธารณะประโยชน์ตรงนี้ เป็นของวัด เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าช้ามานานหลายสิบปีแล้ว ด้านนายอักษรย่อ (น)นามสมมุติ ผู้อ้างกรรมสิทธ์ ซึ่งนำเจ้าหน้าที่มารังวัด เล่าว่า ผมมีโฉนดนำมาแสดง ถูกต้อง และได้เสียภาษีตามกฎหมาย

พระสมชาย สร้อยฉิมพลี เจ้าอาวาส วัดโคกศิลา เล่าว่า เดิมทีนายอักษรย่อ(น) นามสมมุติ เจ้าของที่ มีที่ดินติดกับวัด 39 ไร่ ขายไปแล้ว 30 ไร่ เหลืออีก 9 ไร่ ซึ่งติดกับป่าช้าวัด จึงเป็นที่มาของการอ้างกรรมสิทธิ์ มารังวัดในครั้งนี้ ทั้งนี้ นายชุมพล หาญตะคุ กำนัน ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย กล่าวว่า เจ้าของที่ มีโฉนดนำมาแสดง

แต่การออกโฉนดให้เมื่อหลายสิบปีก่อน ออกให้ได้อย่างไร ทั้งๆที่ ยังเป็นพื้นที่พิพาท และหมุดที่ปักไว้ก็ไม่มีตามโฉนดตามที่เจ้าของที่นำมาแสดงเป็นหลักฐาน และการที่ เจ้าของที่ นำเจ้าหน้าที่มารังวัด ก็ไม่ได้แจ้งกำนันไว้ล่วงหน้า การรังวัดในครั้งนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย ไม่รับรอง รอกระบวนการพิสูจน์ ต่อไป

กันตินันท์ เรืองประโคน / รายงาน

สื่อรัฐทีวี-สื่อรัฐนิวส์ / จนท.ทุกฝ่าย ร่วมแก้ปัญหาชาวบ้านหัวดง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

แชร์เนื้อหานี้

วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่บริเวณลานวัดหัวดง หมู่ที่5 ตำบลคลองเกตุ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ได้มีประชาชนมากกว่าหนึ่งร้อยคนรวมตัวเรียกร้อง ขอความเป็นธรรม จากกรณีชาวบ้านกับผู้นำหมู่บ้าน ต่างมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เดือนร้อนถึงหน่วยงานรัฐ คณะสงฆ์ภายในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ต้องเดินทางแก้ไขปัญหาของชาวบ้านหัวดง

นายเจตน์พงศ์ โชคสวัสดิ์วรกุล นายอำเภอโคกสำโรง เจ้าหน้าที่สาธารณะสุข ฝ่าย อส. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองเกตุ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินทางเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการที่ประชาชนได้ออกมาหาขอสรุปร่วมกันความทราบถึงพระครูภัทรปัญญาวุธ (พระครูเภก) เจ้าคณะอำเภอโคกสำโรง ได้มอบหมายให้เจ้าคณะตำบลคลองเกตุ เขต2 รวมถึงพระสังฆาธิการเดินทางถึงบริเวณวัดหัวดง ที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันอยู่ประมาณ
180 คน

โดยสาเหตุ เริ่มจากผู้นำหมู่บ้าน จะนำน้ำ จากลำคลองที่พัดไหลผ่าน ต้องการจะระบายน้ำเข้าบริเวณสระน้ำภายในวัดหัวดง เผื่อไว้ใช้น้ำรดต้นไม้ยามฤดูแล้ง รวมถึงจัดงานลอยกระทงที่จะมาถึงนี้ และจะปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆสระให้สะอาดเช่นแต่เก่าก่อน และเมื่อมีเหตุเกิดอัคคีภัยก็ไม่ต้องเดินทางไปรับน้ำจากที่อื่นๆที่ไกลออกไป เนื่องจากปัจจุบันนี้สระน้ำดังกล่าวเริ่มมีวัชพืชขึ้นภายในสระ และมองดูไม่สะอาดตา จึงจะปรับปรุงสระให้ดียิ่งๆขึ้นและกลับมาใช้ได้ในยามจำเป็นที่ต้องการใช้น้ำ

แต่มีชาวบ้านบางส่วนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการที่จะนำน้ำดังกล่าวเข้ามาเก็บในสระเก็บไว้   โดยมีข้ออ้างว่าน้ำสกปรกมากเกินไป ไม่สะอาดเพียงพอที่จะนำน้ำมาเข้าไว้ในสระน้ำดังกล่าว   ทางฝ่ายนายอำเภอโคกสำโรง และเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขอำเภอโคกสำโรง ผู้ที่เกี่ยวข้องและคณะสงฆ์อำเภอโคกสำโรง ได้เดินตรวจสภาพบริเวณสระน้ำ รวมถึงน้ำที่จะนำเข้ามาไว้ในสระภายในวัดหัวดง
โดยในที่ประชุมสรุปผลออกมาได้ว่า ต้องให้ฝ่ายสาธารณะสุขออกมาวัดค่าของน้ำ ที่อยู่ภายในสระ กับน้ำที่จะนำเข้ามาได้มาตรฐานความสะอาดพอๆกันหรือไม่ และให้ฝ่ายปกครอง คณะกรรมการวัด รวมถึงชาวบ้านหัวดงทุกท่าน รอผลภายใน 1 สัปดาห์ แล้วค่อยนำน้ำเข้าภายในสระ โดยจะต้องมีขั้นตอนกรองน้ำที่ถูกต้องตามระบบการกรองน้ำเข้าสระ ทุกฝ่ายจึงตกลงเห็นชอบตามมติที่ออกมา และสุดท้ายได้มีการแต่งตั้งไวยาวัจกรวัดกัวดง ขึ้นมา 2 ท่าน รวมถึงคณะกรรมการ 18 ท่าน พร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อีก อีก 3 ท่านเป็นโดยตำแหน่งหน้าที่ จากนั้นชาวบ้านจึงได้แยกย้ายกันกลับ
สนอง แท่นสูงเนิน
ผอ.ศูนย์ข่าวฯ ประจำจังหวัดลพบุรี นายงาน

ค้าน ! ขึ้นค่าแรง 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ 17 สภาองค์การนายจ้าง ร่วมกันคัดค้าน การขึ้นค่าแรง 400 บาท

แชร์เนื้อหานี้


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2567 ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (สภา2) ร่วมกับสภาองค์การนายจ้างอีก 16 สภา ประชุมหารือประเด็นปัญหาต่างๆ แสดงจุดยืนร่วมกัน คัดค้านการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ที่จะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2567 เตรียมยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงแรงาน ข้อเสนอแนะที่รัฐต้องคำนึงถึง รัฐควรคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมที่แตกต่างกัน การพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมาย ซึ่งบัญญัติไว้ใน ม. 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นด้วย ต้องคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทธุรกิจ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน หากการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ ถึงแม้ว่าการปรับค่าจ้าง จะใช้บังคับ เฉพาะโรงงานที่สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ก็ยังไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกันเพราะยังขาดหลักการพิจารณาที่เหมาะสม สภาองค์นายจ้าง จึงได้ร่วมกันลงนามคัดค้านและเสนอแนะ เพื่อให้กระทรวงแรงงานได้รับ ทราบและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สภาองค์การนายจ้างเห็นร่วมกัน เพื่อนำเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
และท่านปลัดกระทรวงแรงงาน โดยมีรายนามประกอบด้วย

  1. สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (สภา 1)
  2. สภาองค์การนายจ้างสภาอุตสาหกรรมเอ็สเอ็มอี แห่งประเทศไทย (สภา3)
  3. สภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค (สภา4)
  4. สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ (สภา 5)
  5. สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย (สภา 6)
  6. สภาองค์การนายจ้างไทยสากล (สภา 7)
  7. สภาองค์การนายจ้างการเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรมไทย (สภา 8)
  8. สภาองค์การนายจ้างธุรกิจ การค้าและบริการไทย (สภา 9)
  9. สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย (สภา 10)
  10. สภาองค์การนายจ้างไทย (สภา 11)
  11. สภาองค์การนายจ้าง ธุรกิจ และอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สภา12)
  12. สภาองค์การนายจ้างธุรกิจอุตสาหการไทย (สภา13)
  13. สภาองค์การนายจ้าง เอส.เอ็ม.อี แห่งประเทศไทย (สภา 14)
  14. สภาองค์การนายจ้างบริการไทย (สภา 15)
  15. สภาองค์การนายจ้างธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว-ภาค 8 (สภา 16)
  16. สภาองค์การนายจ้างเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สภา 17)

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย #สภาองค์การนายจ้าง #กระทรวงแรงงาน #นายจ้าง #ขึ้นค่าแรง400บาท