เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 20 ตึก 150 ปี กระทรวงการคลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 3/2567 พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศ. ดร. นฤมล ภิญโญสินวัตน์ รองประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เข้าร่วมประชุม โดยนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้นำเสนอวาระที่สำคัญต่อที่ประชุม ดังนี้
วาระเพื่อพิจารณา ที่ประชุมเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณตามกรอบและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 วงเงินรวม 1,579,968,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การจัดการหนี้ของเกษตรกร การซื้อทรัพย์ NPA คืนตามมติคณะรัฐมนตรี การใช้จ่ายเพื่อภารกิจฉุกเฉินของ กฟก. หรือตามคำพิพากษาถึงที่สุด รายจ่ายที่มีภาระผูกพันและเงินคงเหลือเพื่อดำเนินการอื่น ๆ
เห็นชอบปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รายงานผลการดำเนินงานและขอปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมีมติต่อไปโดยเร็ว
เห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ตามอำนาจหน้าที่ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2567 จำนวน 6,014 ราย 16,586 บัญชี มูลหนี้ 4,660,819,477.14 บาทเห็นชอบรายชื่อเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPA (เพิ่มเติม) และอนุมัติซื้อทรัพย์ NPA คืนให้เกษตรกรจำนวน 24 ราย จำนวนทรัพย์สิน 33 แปลง ยอดเงินรวม 37,025,000 บาท
เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้โครงการส่งเสริมของรัฐ โดยให้เกษตรกรสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประเภทหนี้โครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ตามแนวทางที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอดำเนินการ และให้สำนักงานแจ้งเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวได้รับทราบและเตรียมเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป/บุญยงค์ สดสอาด รายงาน
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัด จัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ จากนักออกแบบรุ่นใหม่ พร้อมทดสอบตลาด ภายใต้ชื่องาน Meet The Designer : Eastern Lanna Fashion Show 2024 หวังสร้างและพัฒนานักออกแบบป้อนวงการแฟชั่นล้านนาตะวันออก เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น. ณ บริเวณลานข่วงน้อย ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน นางจิราพร อมาตยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงานจัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ จากนักออกแบบรุ่นใหม่ พร้อมทดสอบตลาด ภายใต้ชื่องาน Meet The Designer : Eastern Lanna Fashion Show 2024 จัดโดยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดน่าน แพร่ พะเยา และเชียงราย หรือเรียกว่ากลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก มีกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากผ้าท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ซึ่งจำเป็นจะต้องพัฒนายกระดับการผลิตดังกล่าวในกลุ่มล้านนาตะวันออกให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต นักออกแบบ นักการตลาด สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก โดยการสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย ให้เกิดความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสู่ตลาดสากล ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline
การที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยสำนักงานอุตสาหกรรมทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน แพร่ พะเยา และเชียงราย ได้ร่วมกันทำโครงการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ตลาดสากล กิจกรรมการสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก จึงเป็นการเสริมสร้างความเข็มแข็งและขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก ทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากผ้าท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาภาคเหนือ พ.ศ. 2566-2570
ด้านนางสาวนิลเนตร โลหะพจน์พิลาศ อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน กล่าวว่า กิจกรรมการสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก มี
วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักออกแบบสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจ ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานสู่ตลาดสากล ปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความต้องการของตลาด ซึ่งมีกิจกรรมของโครงการ ได้แก่ 1) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาองค์ความรู้และออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นล้านนาตะวันออก และกิจกรรมเข้าค่ายพัฒนาสร้างนักออกแบบ 2) กิจกรรมออกแบบ และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก โดยการลงพื้นที่ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ และจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 3) จัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ และจัดประกวดผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ พร้อมทดสอบตลาด ซึ่งได้แก่การจัดงานในครั้งนี้
สำหรับการจัดกิจกรรมแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ พร้อมทดสอบตลาดในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการ กำหนดจัดในระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2567 ณ บริเวณลานข่วงเมืองน่าน ทั้งนี้เพื่อนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบแฟชั่นล้านนาตะวันออก ทั้งเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ จากนักออกแบบจังหวัดน่าน แพร่ พะเยา และเชียงราย ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 41 ราย/ผลงาน มาจัดแสดงเพื่อทำการทดสอบตลาด ภายใต้ชื่องาน Meet The Designer : Eastern Lanna Fashion Show 2024 โดยการจัดทำแบบสอบถามผู้เข้าร่วมชมงานเป็นรายผลิตภัณฑ์ และนำข้อมูลที่ได้มาประมวลวิเคราะห์ในเชิงสถิติ และสรุปผลนำเสนอแก่เจ้าของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดต่อไป
นอกจากนี้ยังกิจกรรมในงาน ได้แก่ การจัดประกวดผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผู้เข้าร่วมโครงการ/ การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานที่ได้รับการพัฒนา โดยนายแบบนางแบบมืออาชีพ / กิจกรรม Business Matching ซึ่งจะเป็นการพบปะเจรจาระหว่างนักออกแบบของโครงการ กับผู้ประกอบการที่ต้องการหานักออกแบบสินค้าแฟชั่น เพื่อร่วมมือสร้างสรรค์งานแฟชั่นล้านนาในอนาคต ซึ่งได้แก่กิจกรรม Meet the Designer /การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของนักออกแบบ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 บูธ / และการแสดง ดนตรีเพื่อความบันเทิงเป็นประจำทุกวันนางจิราพร อมาตยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญเพราะจะเป็นการพบปะระหว่างนักออกแบบรุ่นใหม่ กับกลุ่มผู้ประกอบการ Meet The Designer นักออกแบบจะได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นสอบถามถึงผลงานที่ตัวเองได้สร้างสรรค์ จากองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเมื่อนำผลงานมาทำการทดสอบตลาดจาก ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่มาร่วมชมงาน
จะทำให้ทราบว่าาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามา ตรงกับความต้องการหรือไม่ และ/หรือจะมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาอย่างไรหรือไม่ ซึ่งข้อมูลจากการทดสอบตลาดที่ได้ สามารถนำไปประกอบการพัฒนาการออกแบบและพัฒนาแฟชั่นของตนเองต่อไป นอกจากนี้การจัดแสดงผลงานและทดสอบตลาดในครั้งนี้ ยังจะเป็นการประชาสัมพันธ์แฟชั่นล้านนาให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และขยายช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายต่อไปอีกด้วย/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน ร.ต.อ.สถิตย์ ศรีประสม รายงาน